วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

ดัชชุน...สุนัข โหลดเตี้ย สายพันธุ์เยอรมัน ตอนที่ 2 (จบ)


ประเภทของ สุนัข ดัชชุน

1. ดัชชุน ขนสั้น หรือขนเรียบ ขนจะสั้น หนา เรียบ และเป็นเงา ไม่มีบริเวณที่ขนหลุดล่วงเหลือแต่หนัง ข้อบกพร่องพิเศษ คือขนละเอียด,บาง,หยาบเหลือหนาเกินไปหางค่อยๆ เรียวเล็กลงทีละน้อยไปทางปลายหาง มีขนดีแต่ไม่ถึงกับดกมาก ยาวเรียว ขนหนาหยาบที่ด้านล่างถือว่าเป็นแถบของขนที่กำลังขึ้นงอกงาม

2. ดัชชุน ขนหยาบ หรือขนลวด เป็นพันธุ์ผสม ลักษณะโดยทั่วไปเป็นแบบเดียวกับ ดัชชุน ขนสั้นแต่ขาไม่ยาว ลำตัวสูงกว่าพื้น ขนทั้งลำตัวยกเว้นขากรรไกร คิ้ว หู ปกคลุมไปด้วยขนแข็ง หยาบ หนา สั้น เหมือนกันหมดทั้งลำตัว แต่มีขนที่สั้นกว่าและละเอียดกว่ากระจายอยู่ระหว่างขนที่หนา มีเคราอยู่ที่คาง ขนคิ้วเป็นพุ่ม ที่ตรงบริเวณหูขนจะสั้นกว่าที่ลำตัว

3. ดัชชุน ขนยาว ลักษณะเด่นของพันธุ์ขนยาวคือ ขนแพรไหมค่อนข้างยาว ขนนุ่มเรียบเป็นประกาย ขนหยิกเล็กน้อย มีความยาวกว่าที่บริเวณใต้คอ ที่ด้านล่างของลำตัวโดยเฉพาะที่หูและหลังขาเป็นลักษณะขนยาว ขนมีความยาวที่ด้านใต้หาง ขนยาวพ้นขอบด้านล่างของหู


อุปนิสัยของ สุนัข ดัชชุน

นิสัยที่ทำให้หลายคนหลงใหลได้ปลื้มกระทั่งอดใจไม่ไหว ต้องหา สุนัข ดัชชุน มาไว้เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว คือ ดัชชุน เป็นสุนัขที่อารมณ์สดใส ใจดี และมีชีวิตชีวา สง่างาม กล้าหาญ มีความมุ่งมั่น ชอบค้นหา มีจมูกดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยม แต่ออกแนวดื้อรั้น อีกทั้งยังมีความอยากรู้อยากเห็น แถมมีความซุกซน

ขณะเดียวกัน สุนัข ดัชชุน ก็มีความเฉลียวฉลาด และที่เป็นเสน่ห์สุดๆ ของเจ้าหมาพันธุ์ไส้กรอกก็ตรงที่ "เขาจะรักเจ้าของอย่างมากๆ ขี้อ้อนสุดๆ" ด้วยเหตุนี้ในต่างประเทศจึงนิยมเลี้ยงดัชชุนไว้ในบ้าน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก

และอย่างหนึ่งที่ไม่อาจลืมหรือมองข้ามไปได้ จนบางครั้งทำให้หลายๆ คนคิดจะคัดออกจากการเป็นสมาชิกของครอบครัวทั้งที่เป็นธรรมชาติของมัน ก็คือ ดัชชุน จะชอบขุดดิน ขี้อิจฉา โกรธง่าย และค่อนข้างดื้อรั้น อย่าแปลกใจหากมันชอบที่จะขุดหลุมขุดโพรงและวิ่งไล่จับหนูจับแมลงสาบเล่น เพราะนั่นคืออุปนิสัยดั้งเดิมของมันที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ


อาหารและการเลี้ยงดู สุนัข ดัชชุน

หลายๆ คนที่เปิดใจกว้างคิดจะรับเจ้าสุนัขไส้กรอกเข้ามาเป็นสมาชิกภายในบ้าน ก่อนอื่นต้องถามใจด้วยว่า มีเวลาพาเขาไปเดินเล่นอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือไม่ เพราะดัชชุนเป็นสุนัขที่ชอบการเดินมาก อีกทั้งยังอ้วนง่าย ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพตามมาภายหลัง ดังนั้น ในการเลือกซื้อสุนัขพันธุ์นี้มาเลี้ยงจะต้องดูในเรื่องสุขภาพและความแข็งแรงเป็นหลัก

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยง สุนัข ดัชชุน ควรใช้อาหารเม็ด ควรให้วันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น ข้อควรระวังในการเลี้ยง ดัชชุน คือ ห้ามเลี้ยงจนมันอ้วน เพราะจะมีปัญหาต่อกระดูกสันหลังของมันได้


โรคและการป้องกัน

สุนัข ดัชชุน มักจะเป็นโรคตะโพกอ่อน จะพบอาการชัดเจนเมื่อสุนัขโตแล้ว ถ้าเป็นโรคนี้แล้วจะกระโดดไม่ไหวเหมือนขาไม่มีแรง นอกจากนี้ ส่วนหลังของดัชชุนจะได้รับอันตรายได้ง่ายมาก เนื่องจากมีหลังที่ยาวกว่าปกติ กระดูกงอระหว่างกระดูกสันหลังเมื่ออายุมาก และปัญหาเกี่ยวกับข้อกระดูกสันหลัง

ดังนั้น อย่าลูบหลังของ สุนัข ดัชชุน บ่อย หรืออย่าให้ถูกกระทบกระแทกจากการกระโดด และไม่เหมาะที่จะเลี้ยง ดัชชุน ในบ้านที่มีพื้นต่างระดับหรือพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ มาก

จาก : http://pet.kapook.com/view141.html

ดัชชุน...สุนัข โหลดเตี้ย สายพันธุ์เยอรมัน ตอนที่ 1


สุนัขไส้กรอก...ที่ตัวที่เตี้ยๆ หลังยาวๆ ขาสั้นๆ เวลามันเคลื่อนตัววิ่งหรือเดินไปไหนๆ นั้น เหมือนกับไส้กรอกเคลื่อนที่อย่างไงอย่างงั้น จนหลายคนที่พบเห็น หรือแม้แต่เจ้าของเอง พากันเรียกมันติดปากว่า "สุนัขไส้กรอก" ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าสุนัขพันธุ์นี้มันคือ ดัชชุน (Dachshund) สุนัข ที่มีต้นกำเนิดจากเยอรมนี ที่ถูกยกให้เป็นสายพันธุ์สุนัขที่เป็นสัญลักษณ์ของเยอรมนีที่มีชื่อเสียงโด่งดังพอกับเบียร์ของประเทศเลยทีเดียว ปัจจุบัน ดัชชุน เป็นสุนัขยอดนิยมติดอันดับโลก

ดัชชุน เป็นสุนัขที่กล้าหาญ แข็งแรงและทรหด เป็นมิตรกับเด็ก อีกทั้งยังเป็น สุนัข ที่ฝึกง่าย ไม่ดุร้ายและเรียนรู้เร็ว เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้แต่ฉลาด ไอคิวสูง มีสัญชาตญาณในการล่าเยี่ยม เพราะถูกผสมขึ้นมาเพื่อการล่า และติดตามสัตว์บนพื้นดินหรือต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นกระต่ายป่า และหนู ทั้งบนดินและใต้พื้นดิน โดยวิธีการดัชชุนจะใช้ขาสั้นๆ ขุดดินเพื่อให้เหยื่อออกมา จากนั้นมันก็จะตามไล่ล่าเข้าไปในโพรงอย่างเมามัน! โดยเฉพาะกับตัวแบดเจอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ใต้ดินและมักจะออกมาหาอาหารตอนกลางคืน สุนัข ดัชชุน จึงมักถูกเรียกว่า "สุนัขแบดเจอร" อีกชื่อหนึ่งด้วย

ว่ากันว่า ความกล้าหาญของ สุนัข ดัชชุน หลายตัวรวมกันสามารถเข้าต่อกรกับหมีป่าได้อย่างสบาย ตามข้อมูลระบุว่า สุนัข ดัชชุน ขนาดเล็กที่มีน้ำหนัก 16 - 22 ปอนด์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ สุนัขจิ้งจอก และสามารถแกะรอยกวางที่ได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ ความนิยมในการเลี้ยง สุนัข ดัชชุน ในอเมริกาและแคนาดาเริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา โดยทหารอเมริกันได้นำสายพันธุ์มาจากเยอรมนี

ลักษณะทั่วไปของ สุนัข ดัชชุน

ดัชชุน เป็นสุนัขในกลุ่มสุนัขฮาวด์ (Hound Group) มีส่วนสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 13 - 23 ซม. น้ำหนัก 8 - 12 กิโลกรัม สุนัข พันธุ์นี้จะมีรูปร่าง ยาวเรียว บึกบึน แข็งแรง เตี้ย ล่ำ พร้อมด้วยขาสั้นๆ หัวยาวเรียว กะโหลกศีรษะราบและนูนโค้งเล็กน้อย คิ้วโค้งและยื่นออกมา ขากรรไกรยาว กรามแข็งแรง ฟันสบกันแบบเหมือนกรรไกร ตาสีน้ำตาล-ดำ แสดงออกถึงความเฉลียวฉลาดและแสดงความรู้สึกเป็นมิตร

สุนัข ดัชชุน ใบหูจะยาว และเคลื่อนไหวได้ ลำตัว มีลักษณะเรียวยาว กล้ามเนื้อแข็งแรง ระยะระหว่างพื้นถึงลำตัว (อก) จะเท่ากับ 1 ใน 3 ของความสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ และความยาวของลำตัว หาง จะอยู่ในแนวเดียวกับหลัง

ส่วนขนของ สุนัข ดัชชุน นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ขนสั้น ขนหยาบ และขนยาว สีที่นิยมเลี้ยงในบ้านเรามีหลายสี อาทิ สีดำ, สีน้ำตาล, สีเทา, สีครีม, สีช็อกโกแลต ฯลฯ แต่ถ้าเป็นหลายสีในตัวเดียวกันก็จะมีราคาแพงกว่าสีเดียว เช่น มี 3-5 สีในตัวเดียวกัน

ทั้งนี้ สุนัข ดัชชุน ที่เป็นสายพันธุ์แท้จะต้องมีรูปทรงดี สมส่วน ถ้าตรงตามสายพันธุ์ส่วนของหางจะต้องตรง ไม่ขด ขาหลังไม่โก่งหรือเป็นโรคตะโพกอ่อน ลักษณะการเดินทะมัดทะแมง โดยสังเกตุง่ายๆ คือ ดัชชุนตัวเมียถ้ามีลำตัวยาวยิ่งดี แต่ถ้าเป็นตัวผู้จะต้องมีลำตัวสั้นกว่าตัวเมียเล็กน้อยจะสวยมาก

จาก : http://pet.kapook.com/view141.html

สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน


ปากทู่ หูตั้ง หางโด่
หัวโต อกกว้าง ร่างใหญ่
ฟันสวย เล็บงาม สีอำไพ
กล้ามใหญ่ ไหล่ตั้ง ตารี
เส้นหลังตรง อานยาว อุ้งเท้าสิงห์
ก้าวเดินวิ่ง เป็นสง่า เพิ่มราศี
ใจสู้ รู้ภาษา ร่าเริงดี
หมาพันธุ์นี้ ของตราดแท้ แต่โบราณ


สุนัข ไทยหลังอาน (Thai Ridgeback) จัดเป็น "สุนัขประจำชาติไทย" ที่เก่าแก่ของประเทศ อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้ารางวัลการประกวด สุนัข ระดับโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งนี้ สุนัข ไทยหลังอาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทยแถบจังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง

ลักษณะเด่นของ สุนัข ไทยหลังอาน คือ แนวขนที่ขึ้นย้อนทางจากท้ายทอดไปตามแนวหลัง หรือที่เรียกว่า มีอานนั่นเอง มีท่าทางว่องไว กระฉับกระเฉง ดูร่าเริง ฉลาด ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้าของ และยังมีสัญชาตญาณในการล่าสัตว์ มีความดุร้ายพอสมควร ระแวดระวังคนแปลกหน้า หรือตื่นตระหนกเมื่อได้ยินเสียงต่างๆ ชาวบ้านจึงนิยมเลี้ยง สุนัข ไทยหลังอาน ไว้เฝ้าบ้าน อย่างไรก็ตาม สุนัข ไทยหลังอาน มักดุร้ายต่อเมื่ออยู่ในบ้านเท่านั้น หากออกนอกบ้าน แล้วจะไม่ทำอันตรายใครทั้งสิ้น เว้นเสียแต่เมื่อมันหรือนายของมันถูกทำร้าย

สมัยก่อนชาวบ้านนิยมออกหาอาหารโดยการเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งมักมีสุนัขพันธุ์ไทยหลังอานติดตามไปช่วยล่าสัตว์ด้วย เพราะสามารถวิ่งได้เร็ว เนื่องมาจากมีช่วงลำตัวยาวอกลึกเป็นพิเศษและเอวคอดจึงถูกจัดเป็นสุนัขล่าเนื้อพันธุ์หนึ่ง แต่ในบางครั้งอาจได้ยินคนเรียกสุนัขพันธุ์นี้ว่า "หมาตามเกวียน"ตามลักษณะที่มันวิ่งตามเกวียน ไปกับผู้เลี้ยงขณะเดินทาง

ทั้งนี้ บรรพบุรุษของ สุนัข ไทยหลังอาน ไม่ชัดเจนเท่าไหลนัก เท่าที่มีข้อมูลบันทึกไว้เก่าแก่ที่สุดเรื่องราวของสุนัขไทย คือบันทึกในสมุดข่อยโบราณ สมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ. 2170 ประมาณ 382 ปีมาแล้ว

ในปี พ.ศ. 2531 กลุ่มผู้เลี้ยง สุนัขพันธุ์ไทย ได้เริ่มก่อตัวและจัดตั้งเป็นชมรมและสมาคมขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนาสุนัขพันธุ์ไทยให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น โดยทางสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขแห่งประเทศไทยได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์สุนัขแห่งเอเชีย(A.K.U.) และสมาคมสุนัขโลก (F.C.I.) เพื่อขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์พิทักษ์ สุนัข ไทยหลังอาน ทำให้ สุนัข ไทยหลังอาน ได้เข้าเป็นสมาชิก เมื่อปี พ.ศ.2530 ลำดับที่ 338 ทั้งนี้ ตามมาตรฐานฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 สุนัข ไทยหลังอาน จัดอยู่ในกลุ่มสปิทซ์และสุนัขล่าสัตว์พันธุ์พื้นเมือง

ปัจจุบัน สุนัข ไทยหลังอาน ได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เริ่มมีความสนใจที่จะมีการจัดประกวดสุนัขไทยหลังอานในต่างประเทศ เสน่ห์ของ สุนัข ไทยหลังอาน ที่คนต่างชาติชอบคือ ความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ต้องแต่งเติม สุนัข สายพันธุ์ต่างประเทศบางสายพันธุ์จะต้องมีการตัดหางหรือตัดแต่งหู เหล่านี้เป็นต้น


ลักษณะโดยทั่วไปของ สุนัข ไทยหลังอาน

สุนัข ไทยหลังอาน จัดอยู่ในจำพวกฮาวด์(hound) คือพวกสุนัขล่าสัตว์ เป็นสุนัขขนาดปานกลาง ขนสั้น มาก ร่างกายแข็งแรง ว่องไว ปราดเปรียวมีความสามารถในการกระโดดเป็นเยี่ยม มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับสุนัขพันธุ์ไทยทั่วไปขนาดก็เท่าๆ กัน แต่มีลักษณะเด่นพิเศษตรงแนวขนที่ขึ้นย้อนทางจากท้ายทอดไปตามแนวหลัง ลำตัวยาวกว่าความสูงที่บ่าเล็กน้อย ขณะที่ สุนัข ไทยหลังอาน ยืนเพ่งดูจะมีลักษณะงามสง่า หน้าจะเชิด หูจะตั้ง หางจะทอดไปข้างหลังมีลักษณะเหมือนดาบโค้งงอนมีกล้ามเนื้อเห็นชัดเจน ลักษณะทางกายภาพเหมาะกับการล่าสัตว์

การเลือกซื้อ สุนัข ไทยหลังอาน คือ ลูกสุนัขควรมีอายุอย่างน้อย 2 เดือน และเลือกตัว ที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยดูจากลักษณะทั่วๆไป เช่น สังเกตุตาว่าต้องใส ไม่มีฝ้าขาวหรือขี้ตา เหงือกสีชมพูแดงเรื่อๆ ไม่ขาวซีด ฟันสีขาวน้ำนม ไม่เป็นสีเหลืองอ่อน จมูกชื้น ไม่แห้งและไม่มีน้ำมูก หูสะอาดแห้ง ไม่มีกลิ่น ขนสั้น หลังอาน หางต้องตั้งตรง เพราะเมื่อมันโตขึ้นหางจะ ยิ่งม้วนเข้า หากม้วนตั้งแต่เล็กๆ โตขึ้นอาจม้วนจนติดหลัง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นควรเลือกตัวที่หางตั้งตรงมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ลูกสุนัข อายุน้อยกว่า 2 เดือน หูอาจจะยังตกอยู่ เพื่อความปลอดภัย เวลาเลือกซื้อก็ควรหลีกเลี่ยงลูกสุนัขหูตก ส่วนสีก็เลือกตามที่คุณพอใจ แต่ควรให้เป็นสีเดียวตลอดทั้งตัว ลักษณะเหล่านี้ต้องตรวจดูให้ทั่วก่อนตัดสินใจซื้อ


สีขน

สุนัข ไทยหลังอาน ที่จดทะเบียนไว้ กับสมาพันธุ์สุนัขโลก (FCI) มี ๔ สีคือ แดง (น้ำตาล-แดง) ดำ สวาด (เทา) และสีกลีบบัว หรือสีเหลืองอ่อนอมน้ำตาลอ่อน ( Isabella/Fawn) สำหรับ สุนัข สีแดงมักนิยมตัวที่มีปากมอม (สีดำบริเวณรอบปาก) ยังมี สุนัข ไทยหลังอาน อีกหลายสีที่มีให้เห็นบ้างคือ สีขาว ลายเสือ และสีเขียว (สีกระรอก)


อุปนิสัย

สุนัข ไทยหลังอาน เป็นสุนัขที่ซื่อสัตย์ ที่ได้ชื่อว่ารักเจ้าของ ไม่ดื้อ ประจบเก่ง สุภาพ และฉลาด แต่มีความดุร้ายพอสมควรเมื่อเจอคนที่ไม่ใช่เจ้าของ


การเลี้ยงดู สุนัข ไทยหลังอาน

โดยปกติกแล้ว สุนัข ไทยหลังอาน เป็นสุนัขที่เลี้ยงง่าย แข็งแรง แต่เรื่องนิสัยที่ว่าดุๆ ก็เป็นเพราะพื้นฐานของสายพันธุ์ ซึ่งมันจะขี้ประจบ หวงเจ้าของ แต่กับคนแปลกหน้า ผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลให้ดีๆ ไม่งั้นอาจเป็นปัญหาไปกัดเพื่อนบ้าน หรือคนอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงด้วยว่าคุณเอาใจใส่ต่อสุขภาวะทางอารมณ์ของเขามากแค่ไหน เพราะ สุนัข ไทยหลังอาน บางตัวก็ขี้เล่น ร่าเริง และเป็นมิตร

ในเรื่องของสุขภาพ ด้วยความที่ขนสั้น จึงต้องดูแลเรื่องผิวหนังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยุงและเห็บหมัด เพราะเป็นพาหะนำโรคชั้นดีที่อาจทำให้ สุนัข ของคุณป่วยเป็นโรคได้ และแม้ว่าขนสั้น อาบน้ำง่าย แห้งเร็ว แต่ก็ไม่ควรอาบบ่อยๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้ง เนื่องจากขาดน้ำมันที่จำเป็นไป


โรคและวิธีการป้องกัน

สุนัข ไทยหลังอาน มักมีปัญหาเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือด ซึ่งมีสาเหตุมาจากเห็บหมัด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นแบบร้อนชื้น เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเห็บหมัด ทำให้เกิดสภาวะโลหิตจาง ซึ่งสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการถ่ายเลือดตามที่สัตวแพทย์ระบุ

สำหรับวิธีป้องกัน คือ ดูแล สุนัข อย่าให้มีเห็บ เพราะเห็บเพียงตัวเดียวที่มีพยาธิเม็ดเลือดสามารถนำมาติดสุนัขได้ทั้งบ้าน ทั้งนี้ โรคพยาธิในเม็ดเลือด สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ที่คลินิค แต่หากที่บ้านมีสุนัขหลายตัว อาจติดต่อให้เจ้าหน้าที่มาฉีดให้ที่บ้าน แต่แนะนำให้ดูอัตราส่วนของยาให้สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวของสุนัขด้วย เพราะยาค่อนข้างอันตราย

จาก : http://pet.kapook.com/view158.html

พุดเดิ้ล สุนัข แสนฉลาด ตอนที่ 2 (จบ)


อาหารและการดูแล สุนัข พุดเดิ้ล

อาหารการกินของ สุนัข พุดเดิ้ล ควรให้เป็นอาหารสำเร็จรูปจะดีที่สุด อาหารสำเร็จรูปนั้นมีอยู่หลายสูตรด้วยกัน ได้แก่ อาหารสูตรลูกสุนัข อาหารสูตรสุนัขโต และอาหารสูตรสุนัขแก่ การให้อาหารก็ควรให้ตรงตามอายุและสูตร เนื่องจากสุนัขในแต่ละวัยนั้นมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ลูกสุนัข จำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนสูงกว่าสุนัขโต ในขณะที่ร่างกายของสุนัขโตจะต้องการอาหารประเภทพลังงานมากกว่าโปรตีน อย่างนี้เป็นต้น และปริมาณการให้อาหารก็ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะ พุดเดิ้ล จัดเป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่กินไม่มาก

นอกจากเรื่องของโภชนาการแล้ว การให้ อาหารสุนัข ยังควรคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ เจ้าของต้องคอยหมั่นดูแลภาชนะใส่อาหารและสถานที่กินให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ ที่พร้อมจะทำร้ายสุนัขของเรา ส่วนในด้านการดูแลความสะอาดของ พุดเดิ้ล จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องหู เพราะ พุดเดิ้ล มีใบหูที่ใหญ่ หนา ห้อยปรกลงมา จึงต้องหมั่นสำรวจดูใบหูบ่อยๆ แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดให้หมดจด ซึ่งจะดีมากหากจะหยอดน้ำยาเช็ดหูเข้าไปก่อนประมาณ 5 นาทีเพื่อทำให้สิ่งสกปรกอ่อนตัว และง่ายในการเช็ดออกมา แต่ระวังอย่าแหย่สำลีลึกจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อหูชั้นในได้

นอกจากนี้ ตาก็เป็นอวัยวะสำคัญที่พบปัญหา พูเดิ้ล ส่วนใหญ่จะมีร่องน้ำตาที่เห็นได้ค่อนข้างชัด ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คราบน้ำตาหรือสิ่งสกปรกไปหมักหมมได้ง่าย เจ้าของจึงควรคอยเช็ดทำความสะอาดให้ทุกวัน เพราะหากทิ้งไว้นานๆ คราบนั้นจะฝังแน่นอย่างถาวร เช็ดไม่ออก นอกจากนั้น ยังควรหมั่นตรวจดูดวงตาของ สุนัข พูเดิ้ล ด้วยว่ามีฝ้าขาวๆ หรือรอยขีดข่วน รอยแผลบ้างหรือไม่


โรคและวิธีการป้องกัน

โรคที่มักพบใน พุดเดิ้ล จะคล้ายๆ กับชิสุ คือเรื่องตา เนื่องจากเป็นน้องหมาตาโตแบ๊ว เหมือนๆ กันจึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดการระคายเคืองและเป็นโรคตาได้ง่าย แต่สำหรับ พูเดิ้ล แล้วสายพันธุ์ของเขามีที่มีปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้มากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ เจ้าของสามารถสังเกตอาการป่วยของพูเดิ้ลเมื่อป่วยด้วยโรคตา สังเกตได้จากเริ่มตาแดง ตาฝ้า บางครั้งจะมีน้ำตาเอ่อ มีขี้ตามากผิดปกติ ชอบเกาตาหรือไถตากับพื้นหรือฝาผนัง ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดสุด คือ การเดินชนของ เดินขึ้นบันไดลงบันไดไม่ค่อยถนัด หาชามข้าวไม่พบ เป็นต้น ซึ่งหากพบมีอาการเหล่านี้ควรนำมาพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาอย่างตรงจุด

นอกจากโรคเกี่ยวกับตาแล้ว พุดเดิ้ล ยังมักจะมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจเป็นโรคประจำกายอีกหนึ่งโรค โรคหัวใจ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ หรือความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งอาการของ สุนัข ที่มีปัญหา โรคหัวใจ จะมีอาการซึมเศร้า น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง ท้องกาง ไอแห้งๆ และมักไอเวลากลางคืน มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก เหงือกซีด เป็นลมหมดสติ

ทั้งนี้ สุนัข พุดเดิ้ล ที่เป็นโรคหัวใจ สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่จะต้องดูแลเรื่องการให้ยาอย่างใกล้ชิด ควรงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้สัตว์เหนื่อย เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ระวังในเรื่องการให้อาหารและน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือ ต้องมีปริมาณเกลือต่ำ

นอกจากโรคที่กล่าวมานี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่สามารถคุกคาม พุดเดิ้ล ตัวโปรดของคุณได้ การได้รับวัคซีนต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญของ สุนัข ทุกพันธุ์ รวมทั้งอาหาร การเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ รวมถึงสุขภาพจิต เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ พูเดิ้ล ของคุณเป็นสุนัขที่ดีพร้อมทั้งร่างกายและอารมณ์

จาก : http://pet.kapook.com/view150.html

พุดเดิ้ล สุนัข แสนฉลาด ตอนที่ 1


สุนัข พุดเดิ้ล ได้ชื่อว่าเป็น สุนัข ที่มีความนิยมอันดับหนึ่งของโลก และขึ้นชื่อว่าฉลาด ฝึกง่าย สอนง่าย ขี้อ้อน และประจบเก่งเป็นที่สุด แถมยังอดทนไม่ขี้แย เลี้ยงง่าย แม้จะปากเปราะไปบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นหมาที่เห่าไม่รู้เรื่อง ยิ่งในบ้านเรา พุดเดิ้ล สายพันธุ์นิยมเลี้ยงกันคือ พุดเดิ้ลทอย มันกลายเป็นหวานใจตัวจ้อยของหลายๆ ครอบครัว เพราะขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ แถมยังมีลักษณะเป็นเหมือนเหมือนตุ๊กตาที่มีชีวิต สดใสมีชีวิตชีวา มีนิสัยรักสวยรักงาม ชอบเสริมสวย ชอบเที่ยว และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้เร็ว

พุดเดิ้ล (Poodle) มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่ไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่าต้นกำเนิดจริงๆ เป็นประเทศเยอรมนีหรือประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศต่างนิยมเลี้ยง พุดเดิ้ล ไว้เพื่อใช้งาน "เก็บของในน้ำ" เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็คือ "นกเป็ดน้ำ" ที่ชาวไร่ชาวนายิงได้

ในประเทศเยอรมนี พุดเดิ้ล ถูกเรียกว่า "Pudel" หรือ "Pudelin" ซึ่งแปลว่า "กระโดดน้ำ" (สันนิษฐานกันว่าชื่อ Poodle ในภาษาอังกฤษที่เราเรียกกันนั้นก็น่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า Pudel หรือ Pudelin ส่วนในประเทศฝรั่งเศส พุดเดิ้ลเป็นที่นิยมอย่างสูงมากจนได้การยกย่องให้เป็นสุนัขประจำชาติ ที่นี่...พวกมันมีฉายาว่า "Caniche" ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก "chien canard" แปลว่า "สุนัขล่าเป็ด"

และเนื่องจากถูกเลี้ยงไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งาน การตัดขนของ พุดเดิ้ล ในสมัยแรกๆ จึงถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการว่ายน้ำเป็นหลัก ไม่เน้นไปที่ความสวยงาม แต่อย่างที่รู้ๆ กันว่าฝรั่งเศสนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและศิลปะนานาชนิด ในเวลาต่อมาการตัดแต่งทรงขนของ พุดเดิ้ล จึงได้เกิดการพัฒนาเป็นทรงต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้ สุนัข พุดเดิ้ล น่าหลงใหลมากขึ้นเป็นทวีคูณ


ลักษณะสายพันธุ์ สุนัข พุดเดิ้ล

พุดเดิ้ล ถูกจัดอยู่กลุ่ม สุนัข ที่ไม่ใช้ในเกมกีฬา (Non sporting Group) เป็นสุนัขประเภทสวยงาม ปากเรียวยาว ดวงตากลมโต หูห้อยลงมาปิดแก้ม ขนดกและหยิกชนิดติดหนัง ขนสั้นและเงางาม ขนค่อนข้างละเอียด เรียบ หยาบเล็กน้อยและไม่มีขนปุกปุย สีขนมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ มีขนสีขาวแต้มบริเวณหน้าอกเรียกว่า สตาร์ ข้อเท้า และปลายหาง อาจจะมีจุดสีขาวเล็กน้อยบริเวณใบหน้า จมูกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อมันตกใจ

สุนัข พุดเดิ้ล แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. พุดเดิ้ลทอย (Toy Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 12 นิ้ว หนักประมาณ 6 กิโลกรัม

2. พุดเดิ้ล มินิเจอร์ (Miniture Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดกลาง สูงประมาณ 11-15 นิ้ว หนักประมาณ 11 กิโลกรัม

3. พุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดใหญ่ สูงประมาณ 18-22 นิ้ว หนักประมาณ 20 กิโลกรัม

แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ของ พุดเดิ้ล ให้เล็กลงไปอีก จนได้ขนาด พุดเดิ้ล น้องใหม่ที่มีชื่อว่า พุดเดิ้ลทีคัพ (Tea-Cup Poodle) เป็นขนาดเล็กที่สุดในตระกูล พุดเดิ้ล จะมีส่วนสูงไม่เกิน 8 นิ้ว และน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-3.5 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ พุดเดิ้ลทีคัพ นี้แม้ยังไม่ได้รับการรับรองจากสถาบันสุนัขใดๆ แต่สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยง พุดเดิ้ล แล้วกลับตรงกันข้าม เพราะ พุดเดิ้ลทีคัพ กลายเป็นที่นิยมไปทั่วและเป็นที่ต้องการอย่างสูง แม้ว่าจะมีราคาค่าตัวที่แพงลิบลิ่ว

อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล ทั้งหลายที่กล่าวมาจะมีมาตรฐานสายพันธุ์ที่เหมือนกันหมด ทั้งสภาพขน สี นิสัยใจคอ และอื่นๆ จะต่างกันตรงที่ "น้ำหนัก" และ "ความสูง" เท่านั้น

ถ้าพูดถึงเรื่องนิสัยใจคอของเจ้า พุดเดิ้ล ทุกขนาด จะเป็น สุนัข ที่น่าหยิกน่าหมั่นไส้ แสนประจบ ซน และขี้เล่น พุดเดิ้ล พันธุ์เล็กกับ พุดเดิ้ลทอย จะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า และมีความอดทนกับเด็กน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล เป็นสุนัขที่ฝึกง่าย สั่งให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งคุณก็ควรฝึกสอนตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วคุณจะเห็นว่ามันมีความสามารถในการทำตามคำสั่งที่ยอดเยี่ยมทีเดียว ข้อเสียของมันก็คือมันมีนิสัยชอบเห่า แต่คงเพราะตัวเล็กไปหน่อยจึงได้แต่เห่าอย่างเดียว ทำอะไรใครไม่ได้

จาก : http://pet.kapook.com/view150.html

ปั๊ก..สุนัขพันธุ์อ้วน น่ารักแต่นอนกรน


มีหมาเป็นเพื่อน ดีกว่ามีเพื่อนเป็นหมา....เรามักจะเห็นคำขวัญแบบนี้บ่อยครั้งตามท้ายรถบรรทุก หรือรถสองแถวที่ เหน็บแนมในคำว่าเพื่อน

วันนี้จึงอยากจะชักชวนและแนะนำสัตว์ตัวโปรดกำลังพอเหมาะ กลมอ้วน หน้ายู่ หางม้วนขอด ให้กับผู้ที่อยากมี สุนัข เป็นเพื่อน

และหมาตัวนี้คือ สุนัข พันธุ์ปั๊ก (PUG) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดของพันธุ์จากจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาชาวอังกฤษไปเห็นเข้าเริ่มสนใจ จึงได้นำเข้า สุนัข ปั๊ก ไปยังประเทศของเขา จาก สุนัข พันธุ์นี้ก็แพร่หลายไปสู่ตามประเทศต่างๆ แทบทั่วโลก...

สุนัข ปั๊ก มีทั้งสีดำ น้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม ลักษณะเด่นที่ชอบเลี้ยงกัน คือหัวใหญ่ บริเวณหน้าหนังมีรอยย่นมาก (ผู้เลี้ยงจึงควรใช้ผ้าชุบน้ำทำความสะอาดบริเวณส่วนนี้ให้บ่อยครั้ง) ใบหูค่อนข้างบางพับไปทางด้านหน้าหรือหลังได้ ตาสีเข้มกลมโปนอย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะโดยทั่วไปของ สุนัข ปั๊ก คือ จมูกสั้น ปากสั้นมีรูปทรงสี่เหลี่ยมไม่เห็นฟันโผล่ยื่น อกกว้างได้สัดส่วนกับรูปร่างลำตัวที่เป็นทรงสี่เหลี่ยม ขาตั้งตรง หางม้วนขอดเหนือสะโพก ยิ่งม้วนสองรอบจะถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดี.....สุนัข ปั๊ก โตเต็มที่ประมาณ 6-8 กก. สูง 25-28 ซม.

สุนัข ปั๊ก แม้จะอ้วนแต่ไม่มีกลิ่นอับเหมือนกับ สุนัข เล็กสายพันธุ์อื่น อาจเป็นเพราะว่าขนสั้นและไม่ค่อยมีการผลัดขนจึงเป็น สุนัข ที่ค่อนข้างสะอาด ต้องการเพื่อนเล่นไม่ชอบให้ปล่อยทิ้งไว้ตามลำพัง... .เมื่อเวลาที่ผู้เป็นนายไม่สนใจ ปั๊ก ก็จะมีวิธีเรียกร้องด้วยการทำเสียงแปลกๆ อย่างเช่นคราง "หงิงๆ"

ปั๊ก เป็น สุนัข ฉลาด มีความกล้าหาญ แต่ ปั๊ก ก็ค่อนข้างขี้เกียจและออกจะดื้อนิดๆ หากฝึกให้ทำอะไรแล้วจะติดและชอบทำต่อเนื่อง จากการถามไถ่กลุ่มคนรัก ปั๊ก จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเห็นแก่กินเป็นที่สุด กินได้ทั้งวัน หากจะให้ทำอะไรต้องมีขนมล่อหลอก..

จากรูปลักษณะของร่างกาย จุดที่เป็นอันตรายง่ายที่สุดของ สุนัข ปั๊ก ก็คือตา ในบางครั้งมันมักจะถูตาหรือกะพริบถี่ๆ อีกทั้งมีน้ำตาไหลมากเกิน ต้องรีบพาไปหาสัตวแพทย์ทันที นอกจากนี้ จะต้องคอยตรวจสอบเพดานปากให้บ่อยครั้ง สุนุัข พันธุ์นี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับด้านนี้ เนื่องมาจาก สุนัข ปั๊ก มีจมูกสั้น

อ้อ!...ลืมบอกต่อไปด้วยว่าที่ สุนัข ปั๊ก ตัวอ้วนและมีปัญหาในเรื่องเพดานปาก สุนัข ปั๊ก จึงนอนกรนเหมือนกับคนอ้วนทั่วๆ ไป และหายใจเสียงดัง แถมจามบ่อยครั้งเหมือนช่วงที่เราเริ่มเป็นหวัดเชียวล่ะ

ดังนั้น หากใครที่มีความสนใจแบบ "สั้นๆ" ขอแนะว่าไม่ควรเลี้ยงโดยเด็ดขาด เนื่องจาก สุนัข ปั๊ก จะต้องคอยเอาใจใส่ดูแลโดยตลอด ...หากเจ้านายไม่สนใจ ปั๊ก จะมีอาการหงอยเหงา จนถึงขั้น "เฉาตาย" ไปในที่สุด

จาก : http://pet.kapook.com/view871.html

ชิวาวา สุนัข พันธุ์จิ๋ว


"เล็กใหญ่ไม่เกี่ยว มันอยู่ที่ใจ"…คำพูดนี้อย่าตีความหมายเป็นอย่างอื่น มันเป็นการยืนยันความรักของ "ชิวาวา" สุนัข ที่หลายคนรู้จักมักคุ้นว่า "หมากระเป๋า" ที่มีให้กับนายของมัน

คุณวรุทัย แก้วกำแพง เจ้าของคอก สุนัข ชิวาวา ทีคัพสวีทโฮม อยู่หมู่บ้านเศรษฐสิริ สนามบินน้ำ นนทบุรี บอกว่า กำเนิด สุนัข ชิวาวา เชื่อกันว่าอยู่ในเม็กซิโก

หลายๆ คนลงความเห็นว่า สุนัข ชิวาวา มีนิสัยที่ค่อนข้างติดเจ้าของและไม่ทำลายข้าว ขี้ประจบมาก อ้อน บางครั้งก็เป็น สุนัข ที่หยิ่งในตัว ถ้าไม่ใช่เจ้าของจะไม่ให้จับต้อง ปากเปราะเห่าเสียงดังเหมือน สุนัข พันธุ์เล็กตัวอื่นๆ ทำให้ สุนัข ชิวาวา เหมาะที่จะเลี้ยงไว้สำหรับเป็นเพื่อนมากกว่าหมาเฝ้าบ้าน

สุนัข ชิวาวา เพศผู้อายุ 1 ปี จะเริ่มเป็นสัดซึ่งเร็วกว่าเพศเมีย เริ่มเหล่หนุ่มตอนช่วงอายุ 18 เดือน หลังจากผสมพันธุ์แล้วตกลูกเต็มที่ 1-3 ตัว น้ำหนักตั้งท้องจะมีขนาด 2 กิโลกว่า ลูกสุนัข มีน้ำหนัก 1 ขีด ไม่เกิน 2 ขีด มีขนาดเล็กมาก แรกเพิ่งคลอดต้องคอยดูแลให้ สุนัข กินนมแม่ ซึ่งช่วงนี้ควรระวังเรื่องโรคต่างๆ

พออายุราวเดือนครึ่ง ควรเริ่มฝึกให้ สุนัข ชิวาวา กินอาหารเม็ดด้วยการแช่น้ำให้นิ่ม หรือผสมนมแพะเล็กน้อย หรือให้ อาหารเหลวสำหรับ ลูกสุนัข เป็นการฝึกให้สุนัขเลียหรือกินอาหารได้เอง

สีสันกลายเป็นข้อแบ่งเกรดและราคาของ สุนัข ชิวาวา สีตามมาตรฐานสายพันธุ์ก็คือน้ำตาล แต่บรีด (ผสม) กันไปบรีดกันมา จนเกิดสีหลากหลาย เช่น สีซอค สีดำ สีน้ำตาล สีทั่วไปอย่างที่เห็น เป็นสีขาว ดำ สีแฟนซี

ส่วนรูปร่างลักษณะที่เป็น สุนัข ชิวาวา ที่ดีสมบูรณ์แบบ หัวหรือกะโหลกศีรษะต้องกลม หน้าจะต้องสั้น ส่วนเรื่องลำตัวจะยาวหรือไม่แค่ไหนนั้นแล้วแต่ตัว สุนัข ขาต้องไม่ยาว ควรอยู่ในสัดส่วนที่พอดี ดูแล้วเป็นทรงสี่เหลี่ยม เมื่อมองจากลำตัวที่ตัดจากลำคอไปถึงหาง การเดินต้องเดินเตะเหมือนม้า วิ่งเหยาะๆ คล่องแคล่ว มีนิสัยที่ปราดเปรียว กระโดดโลดเต้น ชื่นชอบการออกกำลังกาย

เมื่อ สุนัข ชิวาวา โตเต็มวัยน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8-2.7 กก. ซึ่งที่ฟาร์มจะบรีดได้เล็กสุดอยู่ที่น้ำหนัก 1.5 กก. แม้ว่ามันจะได้ชื่อว่าเป็น สุนัขที่ตัวเล็กที่สุดในโลกแล้วก็ตาม ปัจจุบันก็ยังมีคนผสมดูแลให้ ชิวาวา เล็กจิ๋วลงไปอีก และ ทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ!!..

แม้ว่าหมากระเป๋าจะตัวเล็ก แต่อายุโดยเฉลี่ยของ สุนัข ชิวาวา อยู่ที่ 15 ปี ซึ่งเท่ากับ สุนัข สายพันธุ์อื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลที่ต้องระวังเป็นพิเศษ…ทั้งสุขอนามัยและอย่าให้โรคภัยเบียดเบียน

...ถึงตอนนี้ก็คงอยากจะได้ สุนัข ชิวาวา มาเป็นเพื่อนแล้วซิ สำหรับหลายๆ คนที่คิดจะเปิดบ้านรับ สุนัข พันธุ์จิ๋วเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ แต่ยังไม่แน่ใจเรื่องการดูแล

จาก : http://pet.kapook.com/view1121.html