วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

การเล่นสำคัญกับลูกสุนัขอย่างไร ?


การเล่นสำคัญกับลูกสุนัขอย่างไร ? (โลกสัตว์เลี้ยง)

ว่ากันว่าลูกสุนัขก็เหมือนกับเด็ก ๆ ที่รักการเล่น ชอบที่จะซุกซนไปทั่ว ความซุกซนของเด็กถ้ามองในแง่ดีเหมือนที่โบราณเค้าว่าเอาไว้ว่า เด็กที่ซุกซนนั้นเป็นเด็กที่ฉลาด เพราะสามารถเรียนรู้อะไรได้เร็ว แต่ถ้าเป็นเจ้าตัวน้อยสี่ขาของเราล่ะ ถ้าเค้าเป็นลูกสุนัขที่ซุกซนแล้ว เขาจะเป็นสุนัขที่ฉลาดเหมือนโบราณว่าไว้ไหมน๊า

ลูกสุนัขชอบที่จะเล่นซุกซน เมื่อครั้งที่สุนัขยังเป็นสัตว์ป่า การเล่นของลูกสุนัขมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นการฝึกให้ลูกสุนัขเรียนรู้ทักษะการล่าสัตว์เบื้องต้น แม้ปัจจุบัน สุนัขจะกลายเป็นสัตว์บ้านแล้ว แต่การเล่นก็ยังคงมีความสำคัญ ทั้งนี้เพราะ สุนัขเป็นสัตว์สังคมที่ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูง การเล่นจึงช่วยพัฒนาให้สุนัขรู้จักการเข้าสังคม และรู้จักที่จะเป็นเพื่อนกับมนุษย์ เพื่อจะได้พัฒนาเป็นสุนัขเต็มวัยที่มีสุขภาพจิตดีต่อไป

ลูกสุนัขอายุ 28-35 วัน จะเริ่มแสดงพฤติกรรมทางสังคม คือ ลูกสุนัขจะเริ่มเล่น หยอกล้อกัน สุนัขที่ตัวโตกว่า จะแสดงการข่มขู่สุนัขตัวเล็ก แสดงความเป็นจ่าฝูงออกมา ระยะนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของพฤติกรรมสุนัข เพราะสุนัขจะมีพฤติกรรมในอนาคตเช่นไร จะเขึ้นกับการเรียนรู้ และจดจดในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เช่น ลูกสุนัขที่ถูกแกล้งให้ตกใจกลัว เมื่อโตขึ้นอาจกลายเป็นหมาขี้ระแวง หรือถึงขั้นเป็นหมาโรคประสาทได้ หากตกใจมาก ๆ หรือลูกสุนัขที่ตกใจเพราะเสียงดัง โตขึ้นอาจกลัวเสียงฟ้าร้อง หรือประทัด เป็นต้น

ลูกสุนัขที่ถูกกักขัง หรือกีดกันไม่ให้พบปะผู้คน ในช่วงอายุ 3-10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกสุนัขชอบที่จะเล่นซุกซนที่สุด มักจะไม่สามารถปรับตนให้เข้ากับสังคมทั้งคนและสุนัขด้วยกันเองได้ ที่ร้ายที่สุดคือ เมื่อเติบโตขึ้น มันอาจจะมีอาการทางประสาท ไม่ชอบพบปะผู้คน จนเจ้าของยากจะควบคุม

สำหรับสุนัขเต็มวัยก็ชื่นชอบการเล่นเช่นกัน การเล่นทำให้สุนัขได้ออกกำลังกายไปในตัว และช่วงลดความเครียดของสุนัข อย่าลืมว่า สุนัขนั้นเคยเป็นสัตว์ป่ามาก่อน เคยมีพฤติกรรมที่จะต้องออกล่าหาอาหาร ถ้าให้สุนัขจับเจ่าอยู่กับบ้าน อาจทำให้สุนัขเครียดได้ โดยสุนัขแต่ละพันธุ์มีการเล่นที่โปรดปรานแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับพฤติกรรมของบรรพบุรุษของแต่ละสายพันธุ์

สุนัขก็เหมือนกับคน ที่อาจมีทั้งนิสัยดี และไม่ดี สุนัขบางพันธุ์อาจมีนิสัยก้าวร้าว ชอบแสดงพฤติกรรมนักรบ แย่งชิงความเป็นจ่าฝูง ก่อให้เกิดความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่เจ้าของ ดังนั้น เจ้าของอย่างเรา ๆ จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมสุนัขตั้งแต่ยังเล็กว่า มีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวเมื่อโตขึ้นหรือไม่ เช่น เมื่อนำสุนัขตัวใหญ่มาเลี้ยง มันขู่คำรามไม่เป็นมิตรหรือไม่ หรือเมื่อเจอคนแปลกหน้า มันขู่คำรามหรือไม่ หรือเมื่อออกไปนอกบ้าน มันไปเที่ยวข่มขู่สุนัขที่ตัวเล็กกว่าหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ใช่ แสดงว่าสุนัขของคุณมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวในอนาคต

การฝึกให้สุนัขเชื่อฟังคำสั่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ควบคุมสุนัขได้และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในภายหลัง ซึ่งการแก้ไขปัญหา ขณะสุนัขโตแล้ว ทำได้ยากมาก เพราะพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ดีจะนำพาไปซึ่งคุณสมบัติของสุนัขที่ดีได้ การให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ ตั้งแต่เค้ายังเป็นสุนัขตัวเล็ก ๆ โตขึ้นไปเค้าก็จะกลายเป็นสุนัขที่ดีได้(ว่าไหม)

จาก : http://pet.kapook.com/view17256.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น