และวันบรมราชาภิเษกครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๓
ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา ๑๐๐ บาท ด้านหน้ามีลักษณะ สี และขนาดเหมือนกับธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐ บาท ซึ่งใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนเฉพาะ ด้านหลังธนบัตรเป็นเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับการราชาภิเษกสมรส และการบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ภาพประธานด้านหลัง เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงโบกพระหัตถ์ และพระฉายาสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ ตอนล่างของธนบัตรมีข้อความ "ราชาภิเษกสมรสครบ ๖๐ ปี ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓" และ "บรมราชาภิเษกครบ ๖๐ ปี ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓"
ภาพประกอบด้านหลังธนบัตร เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดับด้วยลายดอกพิกุล 6 ดอก สื่อความหมายถึง การบรมราชาภิเษกครบ ๖๐ ปี โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทอง พระราชทานแก่พราหมณ์และพระบรมวงศานุวงศ์ตามคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีนั้นเปรียบเสมือนสมมติเทพที่อุบัติลงมาจากสวรรค์ บริเวณพระราชมนเทียรจึงถือว่าเป็นดุจสวรรค์ ต้นพิกุลเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในอุทยานบนสวรรค์ ดังนั้น ในระหว่างการประกอบ พระราชพิธีจึงมีการโปรยดอกพิกุลซึ่งเปรียบเหมือนดอกไม้สวรรค์ และเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งสมบูรณ์ เพื่อเป็นการให้สิ่งที่เป็นมงคลในพระราชพิธี
เบื้องซ้ายมุมบน เชิญพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ พิมพ์บนธงชาติไทย สื่อความหมายถึง ความเป็นชาติไทย ซึ่งประกอบด้วย สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เบื้องซ้ายมุมล่าง เชิญพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือเป็นพระราชปณิธานอันแน่วแน่และสำคัญยิ่ง ดังที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจริยาดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
ขนาด ๗.๒๐ x ๑๕.๐๐ เซนติเมตร
วันประกาศออกใช้ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓
จ่ายแลก วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓
จาก : http://www.bot.or.th/ ธนาคารแห่งประเทศไทย