วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ธนบัตรแบบต่างๆ ตอนที่ 4.2

ธนบัตรแบบ ๔ (กรมแผนที่)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง ขยายตัวมายังทวีปเอเชียจนกลายเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยญี่ปุ่นได้ยกกองทัพเข้ามาในประเทศไทยเพื่ออาศัยเป็นฐานทัพในการสู้รบและยึดครองประเทศข้างเคียงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศคู่สงคราม ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะจำยอมต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และถูกยื่นข้อเสนอให้จัดตั้งธนาคารกลางโดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ เป็นชาวญี่ปุ่น ดังนั้น เพื่อรักษาอิสรภาพและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศมิให้ญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจควบคุมระบบการเงินของไทย รัฐบาลในขณะนั้นจึงเร่งจัดตั้งธนาคารกลางอย่างรีบด่วน โดยสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นทำหน้าที่รับมอบการออกธนบัตรจากกระทรวงการคลัง และประกอบธุรกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง

ทหารญี่ปุ่นขณะเดินทัพไปยังมลายู


การลงนามกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น


จากการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้การสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัท โทมัส เดอ ลา รู ประเทศอังกฤษ ไม่สามารถกระทำได้ รัฐบาลไทยจึงขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยพิมพ์ธนบัตรให้ (ธนบัตรแบบ ๕) แต่เมื่อสงครามทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจนัก ถึงแม้จะได้สั่งพิมพ์ธนบัตรจากประเทศญี่ปุ่นแล้วก็ตาม หากญี่ปุ่นไม่สามารถขนส่งธนบัตรมาได้ ก็จะทำให้ประเทศไทยขาดแคลนธนบัตรอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เอง โดยใช้วัตถุดิบที่พึงหาได้ภายในประเทศ และมอบหมายให้ กรมแผนที่ทหารบก กรมอุทกศาสตร์ และโรงพิมพ์ของเอกชนบางแห่ง เป็นผู้จัดพิมพ์ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แม้ว่าธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นใช้เองนี้จะมีคุณภาพต่ำ แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนธนบัตรได้ตลอดช่วงสงคราม ธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นใช้เองในช่วงสงคราม ได้แก่ ธนบัตรแบบ ๔ (กรมแผนที่) ธนบัตรแบบ ๖ ธนบัตรแบบ ๗ และธนบัตรแบบพิเศษ


โรงงานกระดาษ จังหวัดกาญจนบุรี









ธนบัตรแบบ ๔ ซึ่งพิมพ์จากกรมแผนที่ทหารบก มีรูปแบบเหมือนกับธนบัตรแบบ ๔ ที่พิมพ์จากบริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด แต่ได้พิมพ์คำว่า "กรมแผนที่" ไว้ที่ขอบล่างของธนบัตรทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และใช้กระดาษจากโรงงานกระดาษไทย จังหวัดกาญจนบุรี มี ๔ ชนิดราคา ได้แก่ ๑ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท และ ๑๐๐ บาท เริ่มทยอยออกใช้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๕


จาก : www.bot.or.th ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น